เรื่องที่ต้องรู้ ภาพที่ต้องดู เรื่องของพ่อ ลูกขอจดจำ

Alternative Textaccount_circle
event

มีหลายภาพ หลายเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ที่เรารู้แล้วต่างก็ซาบซึ้งและประทับใจ สุดสัปดาห์ขอรวมเรื่องประทับใจ เรื่องของพ่อ ที่บางเรื่องหลายคนจะยังไม่เคยทราบ และหลายภาพอาจจะยังไม่เคยเห็น เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ 

ที่มาของภาพทรงพระสรวล

ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เมื่อครั้งทรงแข่งเรือใบ มีผู้ร่วมแข่งประมาณ 50 ลำ  ซึ่งพระองค์ทรงเข้าใจผิด เลยออกเรือก่อน 1 นาที เมื่อทรงรู้ว่าผิด ก็ทรงกลับมาเริ่มต้นใหม่ พระองค์เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 5 ทรงตรัสกับ ม.จ.ภีศเดช ว่า ถ้าไม่ทรงพลาดตั้งแต่แรก ไม่มีใครเห็นฝุ่นเรือของพระองค์แน่ ม.จ.ภีศเดช ทูลตอบว่า ในทะเลไม่มีฝุ่นพะย่ะค่ะ ทำให้พระองค์ทรงพระสรวลอย่างชอบพระทัย

เรื่องของพ่อทรงพระสรวลอย่างพอพระราชหฤทัย

ในหลวงกับมอเตอร์ไซค์

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เคยทรงมอเตอร์ไซคล์ด้วยเช่นกัน ทรงไม่ถือพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ต้องใช้ของหรูหรา ทรงยึดหลักความพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยพระองค์ทรงเลือกทรงมอเตอร์ไซคล์คันเล็กๆ อย่าง “เวสป้า”

รูปครอบครัวที่คุ้นตา

ประชาชนชาวไทยต่างก็คุ้นตากับภาพที่แสนจะอบอุ่นนี้ ภาพที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรงฉายพระรูปอย่างแนบชิด อบอุ่น ซึ่งภาพนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เขียนที่มาของภาพนี้ไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ว่า …  เข้าไปถ่ายรูปพร้อมกันทั้ง 4 คน ในตู้ที่เขาให้ถ่ายตัวเองได้ แต่เพียงคนเดียว เลยถูกผู้ที่ดูแลดุเอา

ฉลองพระองค์แฝด

ทรงเป็น 2 กษัตริย์ที่ฉลองพระองค์เหมือนกันตลอดเวลาจนดูเหมือนเป็นฝาแฝด สมเด็จย่าทรงตรัสกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอว่า “ง่ายดี เวลาซื้อชุดก็เลือกแค่ไซส์”

หนีร้อนมาพึ่งเย็น “ใต้ร่มวังจิตรลดา”

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีสาเหตุมาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากทำการชุมนุม ประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อเนื่องหลายวันจากกรณีรัฐบาลจับกุมผู้ต้องหา 13 คน ในข้อหากบฎ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงได้มารวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอย่างแน่นขนัด และเริ่มสลายตัวในตอนเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ขณะที่มีการสลายตัวของฝูงชน กลับเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นที่บริเวณถนนหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ช่วงถนนพระราม 5 ใกล้ถนนราชวิถี เพราะฝูงชนที่จะกลับเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางรายหนีได้ก็ว่ายน้ำข้ามคลองปีนป่ายกำแพงเข้าไปในสวนสัตว์ดุสิต ใช้ก้อนหินขว้างปาใส่ตำรวจ บางส่วนเข้าไปหลับในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดประตูให้เข้าไป ซึ่งผู้คนทั้งหลายทราบภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับสั่งให้มหาดเล็กช่วยเหลือเข้ามาหลบภัยในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระราชทานความช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้ามาหลบภัย เมื่อทรงทราบข่าวว่าประชาชนเข้ามาหลบในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้ว พระองค์ก็รีบเสด็จพระราชดำเนินไปปลอบใจ ด้วยทรงเป็นห่วงประชาชนของพระองค์โดยที่ไม่ทรงเกรงอันตรายใดๆ

เสด็จพระราชดำเนินไปปลอบใจ ด้วยทรงเป็นห่วงประชาชนของพระองค์

ทรงเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ชุมนุมที่เข้ามาหลบภัย

“ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” กับ “ท๊อฟฟี่ที่อร่อยมาก”

พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันเสด็จฯ จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่มาพร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน

วันที่ 19 สิงหาคม 2489 … “วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว”  พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้า และแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน

ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสีย มีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอ และแตกสลาย พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถ แล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่า ล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด

ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า….” “ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”

จะกริ้วมากถ้าพวกเราหลับ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยรับสั่งว่า “ทูลกระหม่อมพ่อทรงรับสั่งว่า การเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ซึ่งใช้น้ำมันจ่ายด้วยภาษีอากรของราษฏรก็เรียกว่าเป็นอภิสิทธิ์แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องทุ่มเทให้มากที่สุดเพื่อประชาชน จะนั่งฟังเสียงหึ่งของเครื่องยนต์แล้วงีบหลับนั้น ไม่ได้” ทั้งนี้ เวลาเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงงานเอกสารไปด้วยเสมอ (Cr. หนังสือ “กลางใจราษฎร์)

 

นำเครื่องบินขึ้นเดี๋ยวนี้ ฉันจะไปด้วย”

เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่จังหวัดน่าน ประมาณปี 2518 – 2519 มีการสู้รบกับผกค. ในครั้งหนึ่งปรากฏว่ามีทหารตำรวจถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วเคลื่อนย้ายออกมารักษาตัวไม่ได้ วิทยุรายงานว่า ฮ.ไม่มี จึงทรงมีรับสั่งให้เอา ฮ.พระที่นั่งไปรับเลย และจะทรงเสด็จไปเองด้วย!

มีบันทึกเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า… ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพิ่งกำลังเสวยพระกระยาหาร เสียงวิทยุสนามรายงานเหตุการณ์จากแนวหน้า ถึงการปะทะกับผู้ก่อการร้าย มีตำรวจทหารบาดเจ็บ ขอให้ส่งเฮลิคอปเตอร์มารับด่วน พระองค์ทรงหยุดเสวยพระกระยาหารทันที รับสั่งกับนักบินว่า.. “นำเครื่องบินขึ้นเดี๋ยวนี้ ฉันจะไปด้วย”

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินฉวัดเฉวียนหาที่ลง เพื่อจะรับผู้บาดเจ็บ สัญญาณพลุข้างล่างแต่ละลูกที่ยิงขึ้นมาเป็นสีแดงทั้งนั้น ซึ่งแสดงว่าเป็นเขตอันตรายลงไม่ได้ นักบินหนักใจเป็นที่สุด เพราะองค์พระประมุขของชาติประทับอยู่ ถ้านำเครื่องลงไปแล้วเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้น จะทำอย่างไร ระหว่างตัดสินใจพยายามหาที่ลงที่ปลอดภัยอยู่นั้น พระสุรเสียงทุ้มๆ นุ่มหูก็รับสั่งมาว่า.. “ลงไปตรงนี้แหละ”

นักบินจึงตัดสินใจนำเครื่องบินพระที่นั่งลงตรงกลางป่าที่มีที่ว่างพอจะลงได้ เมื่อเสด็จฯ ลงจากเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแล้ว ทรงสาวพระบาท (เร่งเดิน) เข้าหาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรวดเร็ว ทรงคุกพระชานุ (เข่า) อยู่ข้างๆ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทรงจับรอบๆ แผลที่ถูกกระสุนปืน โดยมิได้ทรงรังเกียจเลยแม้แต่น้อย นั้นเป็นภาพที่สุดจะตื้นตันในพระมหากรุณาธิคุณของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้นอย่างยิ่ง

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งทรงรับสั่งให้ถอดปืนออกเพื่อให้บินเข้าไปรับทหารบาดเจ็บ

 

ทรงตัดสินคดีเป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประทับบัลลังก์ตัดสินคดีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกใน วันที่ 26 มกราคม 2495 คดีแรกที่พระองค์ทรงตัดสินคือ “คดีลักโม่” ในห้องพิจารณาคดีที่ 12 ของศาลอาญา โดยมีนายเล็ก จุณนานนท์ เป็นโจทก์ นายแสวง แดงคล้าย เป็นจำเลยในข้อหาว่า “เมื่อวันที่ 9 ม.ค. กับ วันที่ 10 ม.ค.จำเลยได้ลักโม่หินของนายกาญจน์ ตันวิเศษ ราคา 80 บาท เหตุเกิดที่คลองต้นไทร”

ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยก็รับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดเหลือ 3 เดือน ประกอบกับการที่เป็นคดีแรกของจำเลย จึงรอลงอาญา 2 ปีแล้วให้คืนโม่หินแก่เจ้าของ นายแสวงดีใจเป็นล้นพ้นที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับบัลลังก์ตัดสินคดีของตน ซ้ำยังได้รับการทรงพระกรุณาให้รอลงอาญา จึงยกมือขึ้นท่วมหัวและสาบานว่า จะเป็นคนดีไม่ลักขโมยของใครอีกต่อไป

ทรงประทับบัลลังก์ตัดสินคดีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก

จะอยู่ถึง 120 ปี

ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าเรื่องไว้ในหนังสือ บันทึกไว้ในแผ่นดิน… ตามเส้นทางเสด็จฯ ว่า “พระองค์ท่านเคยตรัสถามว่า จะอยู่ถึง 120 ปี ด้วยกันมั้ย” เราก็ตอบว่าตอนนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็คง 108 ปี” ทรงมีพระราชอารมณ์ขัน นอกจากนี้ ทรงมีการเตือนพวกเราตลอดเวลาว่า อย่าให้ตัวเองอ้วนเกินไป ให้มีวินัยในการประพฤติตัว ปีที่แล้วเราอายุ  69 ปี ก็ขอพร ท่านตรัสว่าให้กินน้อยๆทรงเตือนว่า เป็นนักพัฒนาต้องแข็งแรงเพราะต้องออกเยี่ยมเยียนประชาชน  “อย่าตามใจปาก  พออิ่มก็หยุดได้แล้ว

เปียโนไม้ในความทรงจำ

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ได้ดูแลสิ่งของสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งไว้อย่างดี นั่นก็คือ เปียโนไม้สีน้ำตาลเข้มแบบตั้งตรง ยี่ห้อ Carl Hardt Stuttgart ผลิตในเยอรมนี อายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงศึกษาในขณะทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 9 และ 7 พรรษาตามลำดับ

เมื่อร้านเปียโนของครอบครัวโลร็องต์ ได้รับซื้อเปียโนหลังนี้ไว้ และพบในภายหลังว่า ภายในมีข้อความเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ว่า “เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยามประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2477 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478” ครอบครัวโลร็องต์จึงได้มอบเปียโนหลังนี้ให้กับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบิร์น เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2540  และเก็บรักษาไว้ที่นั่นจนถึงบัดนี้ ปัจจุบันเปียโนยี่ห้อนี้เลิกผลิตนานแล้ว แต่เปียโนหลังนี้ยังอยู่ และเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในร้อยพันเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมาชิกในราชสกุลมหิดลเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ข้อความตรงกับหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อทรงพระเยาว์ ทรงฉายกับเปียโนหลังนี้ปรากฏในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ที่ระบุไว้ว่า ในปีนั้นมีข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ หนังสือพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์ลงข่าวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระยศในขณะนั้น) อาจจะเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อไป ทำให้นักหนังสือพิมพ์ได้พยายามสืบเสาะหาว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลประทับอยู่ที่ใดในสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งสืบพบและขอประทานพระอนุญาตฉายพระรูป โดยฉายขณะที่ประทับทรงเปียโน ภาพนี้ฉายเมื่อ พ.ศ.2477 โดยช่างภาพของหนังสือพิมพ์จากลอนดอน

ข้อความเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ว่า “เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยามประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2477 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478”

อ่านเรื่องของพ่อ และดูภาพของพ่อ ได้ต่อที่หน้าถัดไป

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up