ไมค์-พิรัชต์ กับภารกิจ “คนหล่อขอทำดี ปี 10 (คนหล่อพอเพียง)

Alternative Textaccount_circle
event

ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล เรียนรู้และเข้าใจ ชีวิตพอเพียงของครูไกลปืนเที่ยง 

หากว่ากันตามระยะทาง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ไกลจากกรุงเทพฯ เพียง 130 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 2-3 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว จึงแทบไม่มีใครคิดว่าภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ใกล้กับเมืองหลวงขนาดนี้ จะมีโรงเรียนเล็กๆ ติดริมเขื่อน ซึ่งมีเพียงถนนลูกรังและเรือเท่านั้นที่เข้าไปถึง ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ก็เช่นกัน เมื่อต้องฝ่าเส้นทางขรุขระกลางผืนป่าเข้าไปยัง ‘โรงเรียนบ้านพุเข็ม’ เป็นครั้งแรกก็ถึงกับเอ่ยปากว่า “ที่นี่คือเพชรบุรีจริงๆ เหรอครับ”

ครูพี่ไมค์กับการสอนคณิตศาสตร์

ที่มาของการเดินทางไปยังแก่งกระจานครั้งนี้ของไมค์ คือการไปทำความรู้จักกับ คุณครูสุมล เรืองเทศ ผู้ดูแลเด็กๆ ชาวเขื่อนอยู่ที่โรงเรียนบ้านพุเข็มมาตลอดอายุราชการกว่า 30 ปี แม้จะเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีถนนดีๆ ไม่มีสถานพยาบาล ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ แต่คุณครูก็ยังคงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ โดยทำทุกอย่างตั้งแต่สอนหนังสือ ทำอาหาร ตัดผม และเป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ ไม่คิดที่จะย้ายหนีไปไหน นั่นจึงทำให้ไมค์เกิดความสงสัยว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างครูยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร

การจะเดินทางไปโรงเรียนบ้านพุเข็ม เส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือทางเรือ แต่วันนั้นไมค์และทีมงานเดินทางจากที่พักริมเขื่อนด้วยรถยนต์ ซึ่งต้องเบี่ยงออกจากทางหลวงสายหลักเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานราว 16 กิโลเมตร ดูจากระยะทางเหมือนจะไม่ไกล แต่เอาเข้าจริงเส้นทางลูกรังที่พื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมบ่อก็กินเวลาในการเดินทางไปหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ เรียกว่านั่งสั่นกันไปตลอดทางกว่าจะถึง

ยานพาหนะที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดในการเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านพุเข็มนั่นคือการใช้เรือในการเดินทาง
08.00 น.

เมื่อไปถึงโรงเรียนก็เป็นเวลาเดียวกับที่เด็กนักเรียนสายริมน้ำซึ่งต้องเดินทางด้วยเรือมาถึงโรงเรียนบ้านพุเข็มพอดี คนหล่อของเรากล่าวทักทายสวัสดีคุณครูสุมล และครูนิก ครูขวัญ คุณครูน้องใหม่ที่เพิ่งมาบรรจุเมื่อต้นเทอมที่ผ่านมา แล้วเดินลงไปรับเด็กๆ จากท่าเรือ แววตาของน้องๆ หนูๆ กว่า 40 ชีวิตในเรือหางยาวดูตื่นเต้นเป็นพิเศษที่วันนี้มีครูผู้ช่วยหน้าตาคุ้นๆ มาคอยรับถึงท่า แม้บางคนจะต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืดเพื่อให้ทันลงเรือมาเรียนก็ตาม

“เด็กที่บ้านอยู่ลึกสุดต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อลงเรือก่อน จากนั้นเรือโรงเรียนจะทยอยไปรับเด็กๆ ตามจุดต่างๆ จนออกจากบ้านหลังสุดท้ายที่ใกล้โรงเรียนที่สุดแล้วต้องใช้เวลาอีกเกือบๆ  2 ชั่วโมงจึงจะมาถึงโรงเรียน” คุณสุมลเล่าให้ไมค์ฟัง ก่อนจะบอกต่อว่าหากเป็นช่วงหน้าแล้งที่น้ำลดต่ำ ครูต้องออกจากโรงเรียนแต่เช้ามืดเพื่อไปรับเด็กนักเรียนด้วยตัวเอง เพราะบางจุดน้ำตื้นเขินเรือใหญ่เข้าไปไม่ถึง คุณครูจึงต้องนั่งเรือเล็กเข้าไปรับเด็กๆ จากบ้านอีกที ได้ยินแล้วไมค์ก็ได้แต่ทึ่งในหน้าที่ของครูริมเขื่อนที่แตกต่างจากครูในเมืองมาก

ไมค์-พิรัชต์ คุณครูคนใหม่ช่วยรับนักเรียนขึ้นจากเรือ
คุณครูสุมล คนต้นเรื่องกับลูกศิษย์ปัจจุบันที่เดินแถวเข้าเรียนอย่างเป็นระเบียบ
08.30 น.

หลังขึ้นจากเรือและทำกิจกรรมหน้าเสาธงเสร็จแล้ว ระฆังก็ตีบอกเวลาเข้าเรียน เด็กๆ แยกย้ายไปตามชั้น อนุบาล 1-2-3 แยกไปหนึ่งห้อง ป.1 และ ป.2 เข้าห้องเดียวกัน ป.3 และ ป.4 ไปนั่งอีกห้อง เช่นเดียวกับ ป.5 และ ป.6 ที่ต้องเรียนรวมกัน ช่วงนี้โชคดีที่มีครูผู้ช่วยบรรจุใหม่ 2 ท่าน จึงช่วยแบ่งเบาภาระการสอนของครูสุมลลงไปได้บ้าง จากที่ต้องสอนเองคนเดียวมานานหลายปี

“เด็กที่นี่น่าสงสาร เขาหวังพึ่งคุณครู แต่ครูส่วนใหญ่มาบรรจุสักพักก็ย้ายไปหมด เหลือแค่เราที่ตั้งใจแล้วว่าจะ ต้องอยู่ให้ได้ ช่วงที่ผ่านมาครูก็เลยต้องสอนคนเดียวทุกวิชา ตั้งแต่ ป.1-ป.6” คุณครูวัยใกล้เกษียณบอกกับคนหล่อของเราพร้อมรอยยิ้ม วันนั้นไมค์จึงอาสาช่วยสอนเด็กๆ อีกแรง โดยช่วงเช้าครูพี่ไมค์ของน้องๆ รับหน้าที่สอนชั้น ป.1 และ ป.2 ในรายวิชาใหม่ที่ฟิวชั่นระหว่างศิลปะและคณิตศาสตร์ เป็นการเรียนการสอนที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน จนเด็กๆ ติดใจบอกกับคุณครูคนใหม่ว่า “ครูพี่ไมค์มาสอนที่นี่เลยไหมครับ” แถมคุณครูตัวจริงยังชมว่าสอนดี ทำเอามือใหม่หัดสอนถึงกับยิ้มหน้าบานเลยทีเดียว

ปรึกษาครูประจำชั้นก่อนเข้าไปลุยจริง
ครูพี่ไมค์สอนวิชาศิลปะผสมคณิตศาสตร์ สนุกจนนักเรียน ป.2 ออกปาก “มาสอนที่นี่เลยไหมครับพี่ไมค์”
ไมค์ :”ผมสอนโอเคใช่ไหมครับคุณครู”
ครูขวัญ: “เยี่ยมไปเลยค่ะ” ^^
11.00 น.

ก่อนถึงมื้อเที่ยงคุณครูสุมลยังมีอีกหนึ่งหน้าที่ต้องทำ นั่นคือการเตรียมอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทั้ง 52 คน แม้ช่วงหลังมานี้ทางโรงเรียนจะให้ผู้ปกครองนักเรียนรับหน้าที่จัดทำอาหารกลางวันในราคา 20 บาทต่อคนต่อมื้อมาให้ แต่บางครั้งคุณครูก็ยังต้องลงมือทำเอง อย่างเช่นวันนี้ ไมค์จึงมีโอกาสโชว์ฝีมือทำอาหารด้วยการทำไข่เจียวสูตรพิเศษถึง 10 กระทะ 60 ฟอง งานนี้คนหล่อไม่มีบ่น บอกแต่เพียงว่า “สบาย ซีรีส์เรื่องล่าสุดผมต้องเล่นเป็นเชฟ เลยฝึกมาเยอะ” แล้วตั้งหน้าตั้งตาเจียวไข่ท่ามกลางสายตาลุ้นระทึกของเด็กน้อย ก่อนจะภูมิใจนำเสนอ “ไข่เจียวไมค์” ไว้กลางโต๊ะอาหารมื้อเที่ยง พร้อมกับเสียงคอนเฟิร์มจากคุณครูสุมลว่า “ไข่พี่ไมค์อร่อยนะ” เป็นการการันตี

ระหว่างมื้อคุณครูเล่าให้ฟังว่า “เรื่องอาหารสำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องสำคัญ เด็กบางคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด ทางครอบครัวไม่ทันเตรียมอาหารเช้าให้ เราก็ต้องดูแลเขา หาอะไรให้กินก่อนเข้าเรียน และไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน ครูยังต้องดูแลไปถึงทางบ้านเขาด้วย บ้านไหนขาดเหลืออะไรก็ช่วยดู บางครอบครัวไม่มีข้าวสาร เราก็ไปหาตามวัดมาให้ ช่วยเท่าที่จะช่วยได้” ฟังแล้วนับถือในตัวตนและหัวใจของครูจริงๆ

นอกจากจะเป็นคุณครูแล้วครูพี่ไมค์ของน้องๆ ยังเป็นพ่อครัวอีกด้วย
มื้อเที่ยงวันนี้ น้องๆ ได้ชิมไข่เจียวฝีมือครูพี่ไมค์กัน
ครูสุมน และครูพี่ไมค์เดินดูน้องๆ ว่ากินไข่เจียวฝีมือครูกันหรือเปล่า

 

ตามติดภาระกิจของครูพี่ไมค์ได้ที่หน้า 2

 

ช่วงพักเที่ยงคือช่วงเวลาแห่งความสนุกของครูพี่ไมค์และน้องๆ

นอกจากจะเป็นครู เป็นพ่อครัวแล้ว พี่ไมค์ยังเป็นเพื่อนเล่นกับน้องๆ อีกด้วย
นอกจากจะสอนเก่งแล้ว เรื่องเตะบอลครูพี่ไมค์ก็เก่งใช่ยอ่ย
13.00 น.

กินอิ่มและเล่นสนุกช่วงพักเที่ยงจนหนำใจแล้ว ก็ได้เวลากลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง ช่วงบ่ายคนหล่อของเราเปลี่ยนมาเป็นผู้ช่วยสอนในวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.5 และ ป.6  ซึ่งคุณครูพี่ไมค์ก็ทำได้ดีเพราะเป็นวิชาที่ถนัด แถมเด็กโตยังไม่ดื้อและซนเหมือนเด็กเล็ก การสอนจึงผ่านฉลุยแบบไม่เหนื่อยมาก อาจจะมีช่วงวุ่นวายอยู่บ้าง เมื่อ “มาริโอ้” และ “สมาร์ท” ชั้น ป.2 มาตามตัวให้กลับไปสอนพวกเขา ครูพี่ไมค์จึงต้องใช้วิธีวิ่งรอก สอน ป.5 เสร็จวิ่งไปสอน ป.2 ต่อ เรียกว่านักเรียนชั้นไหนต้องการตัวก็จัดให้แบบไม่มีเกี่ยง

สอนเสร็จไมค์ถึงกับเอ่ยปากว่า เป็นครูไม่ง่ายเลย นอกจากต้องใช้ความรู้ยังต้องใช้พลังใจและพลังกายสูงมาก ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างครูสุมลจะรับมือกับเด็กๆ กว่า 50 คนเพียงลำพังมาแล้ว เมื่อเขาถาม “ทำไมครูไม่อยากย้ายไปเจริญเติบโตที่อื่นล่ะครับ” คุณครูก็ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่า “เพื่อนๆ ครูคนอื่นอาจจะสอบทำโน่นทำนี่เพื่อให้ได้เงินเดือนสูงๆ แต่ในใจครูอยากสร้างรากฐานให้กับเด็กๆ ที่นี่มากกว่า พอเห็นเด็กที่สอนไปจบปริญญา ได้งานดีๆ ทำ เราก็ดีใจ เหมือนปลูกต้นไม้แล้วได้หน่อได้ผล” ฟังแล้วก็ได้แต่คิดตามว่าความสุขในแบบของคุณครูช่างเรียบง่ายและพอเพียงจริงๆ

สมาร์ทและมาริโอ้ นักเรียนตัวจี๊ดของ ป.2 มาชวน (เอ๊ะ!! หรือลาก) ครูพี่ไมค์ไปสอนหนังสือที่ชั้นตัวเอง
ครูพี่ไมค์กับการสอนคณิตศาสตร์ นักเรียน ป5-ป6
14.30 น.

พักเบรกช่วงบ่ายคือช่วงเวลาเข้าร้านซาลอนฉบับระเบียงห้องเรียนของเด็กๆ ทั้งเด็กหญิง เด็กชาย ใครผมยาวคุณครูสุมลจะเรียกออกมาตัดทีละคน ถึงวันนี้จะโชคไม่ดี โซล่าเซลล์เสีย ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ แต่ก็ยังมีเครื่องปั่นไฟให้ได้เสียบปลั๊กแบตตาเลี่ยนและพัดลมอีก 1 ตัว “ครูชินแล้ว เมื่อก่อนต้องทำแผนการสอนกับตะเกียงจนหน้าดำเขม่าไปหมดก็ยังอยู่ได้เลย” ว่าแล้วคุณครูก็จัดแจงหยิบแบตตาเลี่ยนออกมาตัดผมให้นักเรียนชายด้วยท่าทางทะมัดทะแมง

ความที่บ้านพุเข็มอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เลย ดังนั้นจึงไม่ต้องถามถึงร้านเสริมสวยหรือร้านตัดผม ครูสุมลเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเด็กๆ ต้องนั่งเรือไปสันเขื่อนแล้วโบกรถเพื่อเข้าไปตัดผมในเมือง กว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาค่อนวัน ครูจึงตัดสินใจจับแบตตาเลี่ยนและกรรไกรตัดผมให้เด็กๆ ด้วยตัวเอง

ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อมาเป็นครูที่นี่ 1 วันก็ต้องลองทำดูให้หมดทุกอย่าง ไมค์จึงอาสาช่วยตัดผมให้เด็กๆ ด้วยอีกแรง ถึงจะเพิ่งเคยจับแบตตาเลี่ยนเป็นครังแรก แต่พอตัดออกมาแล้วก็หล่อเฟี้ยวใช่เล่น ด้วยทรงโอ้ปป้าเกาหลี ไถข้างเบาๆ คุณครูสุมลเห็นแล้วได้แต่ยิ้มอ่อนๆ ให้ ไม่รู้ว่าวันรุ่งขึ้นเจ้าเด็กโอ้ปป้าจะถูกจับตัดทรงใหม่ที่ถูกระเบียบกว่านี้ไหม

ช่างตัดผมก็มา
ครูพี่ไมค์รับรองงานนี้ “หล่อ” แน่นอน
รวมผลงานของครูพี่ไมค์
15.30 น.

ระฆังดังได้เวลาเลิกเรียน เด็กบ้านใกล้แยกย้ายกันเดินกลับบ้าน ส่วนเด็กที่ต้องกลับทางน้ำเดินเป็นแถวไปขึ้นเรือ คุณครูตามไปส่งนักเรียนทางน้ำและแวะเยี่ยมผู้ปกครอง ไมค์จึงได้ลงเรือไปด้วย และก็ได้รู้ว่าชีวิตของเด็กริมเขื่อนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กลางเวิ้งน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะนั่งเรือจากโรงเรียนไปถึงบ้านหลังแรกก็กินเวลาชั่วโมงกว่าแล้ว หลายคนถึงกับหลับคอพับคออ่อน จนไปถึงบ้านทั้งไมค์และคุณครูสุมลจึงเดินไปส่งเด็กๆ บางจุดก็มีบ้านอยู่ใกล้กันหลายหลัง แต่บางจุดมีเพียงบ้านของเด็กนักเรียนอยู่หลังเดียว ชีวิตของเด็กที่นี่จึงแทบจะไม่มีเพื่อนเลยนอกจากเวลาไปโรงเรียน

คุณครูถามสารทุกข์สุกดิบของคนในบ้านก่อนจะกลับไปส่งเด็กๆ คนอื่นต่อ ดูเป็นภารกิจที่เรียบง่ายแต่หากไม่ใช่ครูสุมล ก็นึกไม่ออกว่าจะมีครูคนไหนทุ่มเททำเพื่อเด็กชาวเขื่อนขนาดนี้

“คุณครูยังจะสอนอยู่ที่นี่อีกนานไหมครับ” ไมค์ถามระหว่างนั่งเรือกลับโรงเรียน

“อีก 2 ปีครูจะเกษียณแล้ว แต่ก็คงยังอยู่แถวนี้ ถ้ามีแรงกำลังอยู่ก็จะทำหน้าที่นี้ไปเรื่อยๆ จะช่วยสอนให้ ไม่ทิ้งไปไหน ไม่จำเป็นว่าโรงเรียนต้องจ้าง แต่เรายินดีช่วย เพราะคงไม่มีใครจะย้ายมาอยู่ตรงนี้นานๆ หรอก คิดเสียว่าเราช่วยเด็กให้เขาอ่านออกเขียนได้ แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว” นั่นคือถ้อยคำของคุณครูที่บอกกับเขา

ครุพี่ไมค์นั่งเรือไปส่งลูกศิษย์
พ่อแม่น้องยังไม่กลับจากทำไร่ ครูพี่ไมค์เลยนั่งคุยเป็นเพื่อน

ตลอดช่วงเวลา 1 วันเต็มที่ได้ไปลองใช้ชีวิตเป็นคุณครูในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเช่นนี้ ไมค์บอกกับเราว่า “ไม่ใช่แค่ความพอเพียงและพอดีที่เขาได้เรียนรู้ แต่ครูสุมลยังสอนให้เขาได้รู้จักการให้ที่ยิ่งใหญ่ในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือการให้ความรักและความรู้แก่เด็กๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ในแบบที่ครูทุกคนควรจะมี”

Text ASK / Photo Dew

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up